เกี่ยวกับนวัตกรรม

ระบบการกำหนดสีตัวอักษร พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์
เพื่อช่วยอ่านสะกดคำภาษาไทย

การเรียนการสอน การสื่อสารภาษาไทยในระดับประถมศึกษามุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการ ทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร รับรู้ และถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ การอ่านภาษาไทย ที่ขาดความเข้าใจในการอ่าน และไม่สามารถจดจำเรื่องที่อ่านได้ ย่อมทำให้การสื่อสารไม่ได้ เกิดปัญหาในการเรียนวิชาต่าง ๆ ไม่สัมฤทธิ์ผลตามไปด้วย ส่งผลทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายวิตกกังวล หรือเกิดความท้อแท้ไม่อยากเรียน การอ่านภาษาไทยให้เข้าใจความหมาย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวิชาการด้านอื่น ๆ

ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยทราบถึงความสำคัญและมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ จึงได้มีความพยายามในการออกแบบและสร้างสื่อการเรียนการสอน ด้วยวิธีที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจสามารถอ่านและสะกดคำได้อย่างถูกต้อง อีกหนึ่งเทคนิคที่นิยมใช้กันคือ การแยกสีของตัวอักษรทั้ง พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และอักษรควบกล้ำ ออกจากกันเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะกดคำและทำความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกทั้งเกิดความสนุกสนาน ท้าทาย ไม่เบื่อหน่ายในการเรียนรู้

หากครูผู้สอนต้องการใช้เทคนิคการแยกอ่านสะกดคำจากสีต้องใช้เวลาและความพยายามในการสร้างสื่อการสอนมาก เนื่องจากปัจจุบันจำเป็นจะต้องใช้วิธีกำหนดสีให้กับตัวอักษรทีละตัว โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็น Microsoft Powerpoint Microsoft Paint Adobe illustrator เป็นต้น ซึ่งผู้สอนจะต้องใช้ความชำนาญในการใช้โปรแกรม และอาจเกิดความผิดพลาดในระหว่างการทำสื่อการสอนได้

ผู้นำเสนอนวัตกรรมซึ่งมีคุณวุฒิและความชำนาญทางด้านคอมพิวเตอร์จึงเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้บูรณาการทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์และการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จึงได้ออกแบบและพัฒนา “ระบบออนไลน์การกำหนดสีตัวอักษร พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อช่วยอ่านสะกดคำภาษาไทย” โดยได้ติดตั้งไว้ที่เว็บไซต์ http://pasathai.kroopavinee.com ซึ่งครูผู้สอนภาษาไทย สามารถออกแบบสื่อการสอนสร้างใบความรู้ภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการเรียนการสอนอ่านสะกดคำให้ผู้เรียนได้ด้วยตัวเอง ส่งผลให้สัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยดีขึ้น

นวัตกรรมนี้ ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับสร้างชุดคำศัพท์ภาษาไทย ในรูปแบบของการแยกสี พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพื่อช่วยในการอ่านสะกดคำของเด็ก ๆ ที่บางครั้งยังไม่สามารถ จดจำทั้งพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ได้ทุกตัว การมีสีแทนตัวอักษรในคำ จะช่วยสร้างการจดจำให้เด็กแบบฝังลึก และประมวลความจำออกมาเป็นภาพกับสิ่งที่พบเห็น นวัตกรรมนี้จึงมีความสอดคล้องตามหลักการสร้างสื่อการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ในแต่ละช่วงวัย ตามหลักการและกระบวนการเรียนรู้แบบ BBL( Brain Based Learning ) ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีสมาธิ อยู่กับสิ่งที่เขาสนใจ และสามารถจดจำคำศัพท์นั้นได้ง่ายขึ้น

ผู้เสนอนวัตกรรมมีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถเผยแพร่และส่งเสริมให้ครูผู้สอนภาษาไทยได้สร้างสื่อการเรียนการสอนได้อย่างสะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว โดยครอบคลุมไปถึง นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้สนใจศึกษาการอ่านภาษาไทย ให้มาเข้าใช้นวัตกรรมออนไลน์ได้ทุกที่โดยไม่จำกัดเวลาในการเรียนรู้ อีกหนึ่งความมุ่งหวังคือ การต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นเว็บไซต์ที่เป็นเครื่องมือในการรวบรวมให้ความรู้ อำนวยความสะดวก เพิ่มทักษะทั้งทางด้านการ ฟัง พูด อ่าน เขียน ในวิชาภาษาไทยได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น


นางภาวินี พรมโคตรค้า (ครูชำนาญการพิเศษ)
ติดต่อ: ๐๘๙ ๘๔๔ ๖๖๒๘ (ครูติ๊ก)
โรงเรียนบ้านก้างปลา สพป.เลย เขต ๑
หมู่ที่ ๙ บ้านก้างปลา ตำบล ชัยพฤกษ์ อำเภอ เมืองเลย จังหวัด เลย ๔๒๐๐๐ โทรศัพท์ ๐๔๒๘๑๓๕๕๕


แลกเปลี่ยนเรียนรู้และคุณคิดเห็นอย่างไรกับใบความรู้นี้